11/29/2007

สิ่งที่มากับปลาดิบ

@~@สิ่งที่มากับปลาดิบ@~@ ได้รับจาก DL
รู้ไว้ อาจเป็นประโยชน์บ้างครับ
ปัจจุบันคนไทยนิยมรับประทานปลาดิบกันมากขึ้น โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ได้รับอิทธิพลของอาหารญี่ปุ่น ด้วยรสชาติและหน้าตาของอาหารที่ดูสะดุดตาชวนให้น่ารับประทาน ทำให้แทบจะไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ไม่เคยลิ้มลองอาหารจำพวกข้าวปั้น ซูชิ ซาซิมิ ที่มีปลาดิบเป็นส่วนประกอบ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าในปลาดิบนี้มีพยาธิ... พิษภัยที่หลายคนคาดไม่ถึง

ปลาดิบที่เรานำมาบริโภคนั้น มี 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ปลาดิบน้ำจืด และ ปลาดิบน้ำเค็ม (ปลาดิบทะเล) ซึ่งปลาดิบทั้ง 2 ชนิด มีเชื้อโรคที่แอบแฝงมาแตกต่างกัน ปลาดิบน้ำจืดจะพบพยาธิบางชนิด เช่น พยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิใบไม้ลำไส้ ฯลฯ สำหรับปลาดิบน้ำเค็มนั้น คนส่วนมากมักคิดว่าไม่มีพยาธิ แต่ความจริงแล้ว ปลาน้ำเค็มอาจพบตัวอ่อนของพยาธิ อะนิซาคิส ซิมเพลก(Anisakis simplex) ซึ่งปลาดิบน้ำเค็มที่เรานำมาประกอบอาหารนั้นอาจมีการปนเปื้อนของพยาธิชนิดนี้

รู้จักพยาธิอะนิซาคิส ซิมเพลก
พยาธิ อะนิซาคิส ซิมเพลก (Anisakis simplex) เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อน ในประเทศไทยตรวจพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ในปลามากกว่า 20 ชนิด เช่น ปลาดาบเงิน ปลาตาหวาน ปลาสีกุน ปลาทูแขก ปลากุเลากล้วย ปลาลัง เป็นต้น ส่วนในต่างประเทศจะพบในปลาจำพวก ปลาคอด ปลาแซลมอน ปลาเฮอริ่ง ระยะตัวอ่อนที่ติดต่อสู่คนจะอยู่ในอวัยวะภายในช่องท้องของปลาทะเล มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนาดยาวประมาณ 1-2 ซ.ม. กว้างประมาณ 0.3 - 0.5 ม.ม. สีขาวใสมีลายตามขวาง บริเวณส่วนปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะใช้ปากที่เป็นหนามขนาดเล็กบริเวณหัวในการไชผ่านเนื้อเยื่อต่างๆ ทั้งสามารถคงทนต่อน้ำ เกลือ และแอลกอฮอล์ได้เป็นอย่างดี

อาการผิดปกติ
เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ขณะเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อสู่คน บริเวณปากของพยาธิจะมีหนามขนาดเล็ก ขณะเคลื่อนที่จะไชในกระเพาะอาหารและลำไส้ของคน ทำให้เกิดแผลขนาดเล็กและอาจทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ ส่งผลให้ผู้ที่มีพยาธิชนิดนี้ในกระเพาะอาหารและลำไส้ มีอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ ท้องอืด อาการมักไม่เฉพาะเจาะจงคล้ายกับอาการของโรคกระเพาะอาหาร บางรายอาจท้องเสีย หรือถ่ายอุจจาระเป็นเลือดถ้ามีแผลในกระเพาะขนาดใหญ่ อาการมักจะเริ่มเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารที่มีพยาธิชนิดนี้เป็นชั่วโมงหรืออาจเป็นวันก็ได้ และถ้าหากพยาธิชนิดนี้ฝังตัวอยู่ในทางเดินอาหาร นาน ๆ จะทำให้เกิดลักษณะของก้อนทูมขึ้นในทางเดินอาหารได้ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายต่อพยาธิ

การวินิจฉัยและการรักษา
การวินิจฉัยโรคอาศัยประวัติการรับประทานปลาดิบทะเลร่วมกับอาการผิดปกติที่กล่าวข้างต้น และยืนยันการวินิจฉัยและรักษาโดยการส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร หากพบตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้ แพทย์จะใช้กล้องส่องทางเดินอาหารคีบตัวพยาธิออก เนื่องจากพยาธิชนิดนี้ไม่สามารถตรวจพบได้ในอุจจาระ มันจะเกาะติดแน่นกับกระเพาะอาหารและลำไส้ และระยะที่พบในทางเดินอาหารนั้นเป็นระยะตัวอ่อน ซึ่งไม่ออกไข่ปนออกมากับอุจจาระ

ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาพยาธิชนิดนี้ แต่จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่น โดยหัวหน้าทีมวิจัย โตชิโอะ ลิยาม่า พบว่า วาซาบิ มีฤทธิ์ในการฆ่าพยาธิชนิดนี้ได้ แต่รายละเอียด ขนาด และปริมาณการใช้ฆ่าพยาธิยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา
รับประทานปลาดิบอย่างไร
ไม่เป็นพยาธิก่อนอื่นต้องแน่ใจว่า ปลาดิบที่นำมาทำอาหารนั้นเป็นปลาทะเล เพราะบางครั้งผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์นำปลาน้ำจืดหลายชนิดมาทำอาหาร ทำให้เ กิดโรคพยาธิตัวจี๊ด พยาธิใบไม้ในตับ หรือ พยาธิใบไม้ลำไส้ ซึ่งมีความรุนแรงเช่นเดียวกับการติดโรคพยาธิ อะนิซาคิส ซิมเพลก
การแช่แข็งที่อุณหภูมิต่ำกว่า -35 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 15 ชั่วโมง หรือ ต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 7 วัน หรือ ผ่านความร้อนมากกว่า 60 องศาเซลเซียส อย่างน้อย 5 นาที ก่อนการประกอบอาหารจะทำให้พยาธิชนิดนี้ตายได้

No comments: